
ทำอย่างไรเมื่อประสบภัยจากรถ
ขั้นตอนการเบิก พ.ร.บ. และการเตรียมเอกสาร
เอกสารที่ใช้ในการเบิกประกัน พ.ร.บ.
1. กรณีบาดเจ็บ ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน /สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานที่ทางราชการออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้ประสบภัย
- ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล (ตัวจริง)
2. กรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน /สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานที่ทางราชการออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้ประสบภัย
- ใบรับรองแพทย์ หรือหนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล
- ใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล
หมายเหตุ : (ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายผิดจะไม่สามารถเบิกค่าชดเชยส่วนนี้ได้)
3. กรณีทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน /สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานที่ทางราชการออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้ประสบภัย
- ใบรับรองแพทย์
- หนังสือรับรองคนพิการ ที่แสดงถึงการสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานที่แสดงได้ว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัย
4. กรณีเสียชีวิต
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียชีวิต
- ใบมรณบัตร
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของทายาทโดยธรรม
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน และหรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นเสียชีวิตเพราะประสบภัยจากรถ
การทำเรื่องเบิก พ.ร.บ.
ผู้ประสบภัยสามารถทำเรื่องเบิกประกัน พ.ร.บ. ได้ภายใน 180 วันหลังจากวันที่เกิดอุบัติเหตุ หรือวันที่ลงบันทึกประจำวัน โดยสามารถยื่นเรื่องให้โรงพยาบาลดำเนินการให้ หรือติดต่อบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (โทร. 1791) ทั้งนี้ การจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหาย ทางบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจะจ่ายให้กับผู้เสียหายตัวจริงเท่านั้น แต่หากผู้เสียหายไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเอง ก็สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นได้ โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ โดยทางบริษัทจะจ่ายเช็คเป็นชื่อของผู้ประสบภัย ยกเว้นกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเช็คให้แก่ทายาทโดยธรรมเท่านั้น